วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

“กบฏเงี้ยว พ.ศ.๒๔๔๕” การต่อต้านสยามของประเทศราชล้านนา เริ่มที่เมืองลอง เมืองต้า แต่ถูกมองข้ามจะกล่าวถึง

โดย  ภูเดช แสนสา


หตุการณ์ “กบฏเงี้ยว พ.ศ.๒๔๔๕” ถือเป็นบาดแผลลึกทางประวัติศาสตร์ที่ได้ตีตราประทับให้แก่ “ชาวล้านนา” และ “คนเมืองแพร่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือกลุ่มผู้สืบเชื้อสายเจ้านายของเมืองแพร่ ที่เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้ายกลายเป็น “กบฏ


บาดแผลลึกทางประวัติศาสตร์นี้ได้เป็นรอยแผลเป็นที่สืบเนื่องมาจนถึงคนรุ่นปัจจุบัน ดังปรากฏว่าทายาทจำนวนไม่น้อยไม่กล้าที่จะบอกว่าตนเองเป็นลูกหลานของเจ้าหลวงเมืองแพร่[๒] แต่ทว่าหากเราศึกษาทำความเข้าใจกับบริบทเหตุการณ์ของบ้านเมืองในขณะนั้น ก็จะเข้าใจ รับได้ และถือว่าเป็นเรื่องปกติกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนได้เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าถึงเหตุปัจจัยและบริบทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงขณะเวลานั้น ใช่จะรื้อฟื้นความเจ็บปวดของ“ชาวล้านนา”“คนเมืองแพร่”“ผู้สืบเชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่” หรือเน้นย้ำความสำเร็จของ “ชาวสยาม”

หากแต่เพื่อต้องการให้เป็นฐานของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ที่รอการศึกษาต่อยอดให้ครอบคลุมและลุ่มลึกมากยิ่งขึ้นในอนาคต ไปพร้อมกับสร้างความเข้าใจโดยมองภาพจากทัศนะของท้องถิ่น ตามบริบทเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนั้นให้แก่คนในท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อเป็นฐานสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งระหว่าง “ส่วนกลาง” กับ “ท้องถิ่น” ทดแทนรอยบาดแผลลึกที่เกิดขึ้น เพราะในปัจจุบัน ทั้ง “ชาวสยาม” และ “ชาวล้านนา” ต่างก็อยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกันที่เรียกว่า “ประเทศไทย” และเป็น “คนไทย” ด้วยกันแล้ว


ที่ผ่านมาเรื่องราว “กบฏเงี้ยว” ส่วนใหญ่มีการรับรู้รายละเอียดเฉพาะของเมืองแพร่ ทั้งที่เมืองลอง[๑] เป็นจุดเริ่มต้น เป็นแหล่งเตรียมการ เป็นปมเงื่อนไขสำคัญของเรื่องราว และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่น้อยไปกว่าเมืองแพร่ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มีเหตุผลสำคัญอะไรถึงต้องหลีกเลี่ยงจะกล่าวโทษ “กบฏ” ที่เมืองลอง ดังนั้น ผู้เขียนจึงพยายามหาคำตอบโดยการวิเคราะห์เชื่อมโยงหลักฐานต่างๆ ตามมิติเวลาและบริบทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น 

ด้วยการสถาปนาโครงสร้างการปกครองรูปแบบใหม่ในพ.ศ.๒๔๔๒ เพื่อรวบอำนาจไว้แห่งเดียวที่กษัตริย์สยาม หรือที่เรียกว่าการปกครองระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” เนื่องจากสยามถูกบีบจากสถานการณ์การล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ไปพร้อมกับความต้องการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองของสยามเองให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลโดยตรงต่อการเบียดขับกลุ่มผู้ปกครองล้านนาที่เคยมีอิสระปกครองตนเองที่ถือว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งเหมือนกับ “ล้านช้าง(ลาว)” “กัมพูชา” และ “มลายู” เพียงแต่อยู่ในฐานะ “เมืองประเทศราช” คือยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าของสยามในระบบจารีตออกไป

รวมถึงเมืองลองที่แม้เป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง แต่เจ้าเมืองก็มีฐานะเป็น “เจ้าชีวิต” มีอิสระสูงในการปกครองบ้านเมือง ก็ถูกเบียดขับออกจากการปกครองรูปแบบใหม่ทั้งระบบ ตั้งแต่เจ้าเมืองลงไปจนถึงกลุ่มขุนนางเค้าสนามทั้ง ๑๒ ขุน จึงทำให้สูญเสียทั้งอำนาจและเกียรติยศที่สืบทอดกันมาสิบกว่าชั่วอายุคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์จำนวนมากของกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองกับพ่อค้าเงี้ยว ที่เคยติดต่อค้าขายกันมาเป็นเวลาอันยาวนานได้ถูกแทรกแซง ซึ่งไม่เพียงแต่เมืองลองเท่านั้นที่ไม่พอใจ เจ้าผู้ครองนครและเจ้าเมืองต่างๆ ในล้านนาก็มีปฏิกิริยาต่อต้านเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะนครเชียงใหม่ที่เป็นนครประเทศราชขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปการปกครองและปฏิรูปภาษีก่อนและมากกว่าเมืองอื่นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๗

ในขั้นแรกกลุ่มเจ้านายและขุนนางจึงทำการเบี่ยงเบนความสนใจของสยาม จากภายในนครเชียงใหม่ให้ออกไปจัดการปัญหาที่ชายแดน โดยใช้วิธีให้กลุ่ม “เงี้ยว”[๓](ไทใหญ่) คอยสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวายแถบบริเวณชายแดนระหว่างนครเชียงใหม่กับรัฐฉานและพม่า[๔] แต่ก็ไม่ได้ผลเพราะสยามยังดำเนินนโยบายการปฏิรูปต่อไป จึงปรับเปลี่ยนนโยบายมาทำการต่อต้านขึ้นภายในตัวเมืองนครเชียงใหม่โดยตรง ที่ทางฝ่ายสยามเรียกว่า “กบฏพระยาผาบ” ซึ่งนำโดย “พญาปราบสงคราม” หรือ “พญาปราบพลมาร” แม่ทัพเมืองนครเชียงใหม่เชื้อสายไทเขิน โดยมีเจ้านายให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังใน พ.ศ.๒๔๓๒ ความไม่พอใจที่สยามเข้ามาแทรกแซงอำนาจของเมืองนครเชียงใหม่ สะท้อนในหนังสือนัดหมายของพญาปราบสงครามว่า

“.. หมายพ่อพญาปราบสงคราม บ้านสันป่าสัก มาเถิงพญาโคหา บ้านถ้ำ ด้วยเราเปน พญาใหย่เปนโป่ทัพพ่อเจ้ากาวิโลรส ได้มาร่ำเพิงเลงหันว่าเมื่อพ่อเจ้ายังบ่เสี้ยงบุญเทื่อ ก็จำเริญวุฑฒิฟ้าฝนก็ตกบ่ได้ขาด เข้านาปลาท้างก็เหลือกินเหลือทาน บัดเดี่ยวนี้คนไธยชาวใต้(สยาม - ผู้เขียน)ได้ขึ้นมาข่มเหงเตงเต็ก พ่อเจ้าเค้าสนามหลวงของเราก็พากันกลัวมันไปเสี้ยง ชาวหมู่เช็กจีนหินแร่มันก็มาเก็บภาษีต้นหมากต้นพลูต้มเหล้าข้าหมู คันผู้ใดบ่มีเงินเสียภาษีมันก็เอาโส้เหล็กมาล่าม ก็คุมตัวใส่ขื่อใส่ฅาไปเขี้ยนไปตี บ้านเมืองของเราก็ร้อนไหม้นัก หื้อพี่พญาโคหาเอาคนสองร้อยทังหอกดาบสีนาดไปช่วยเราเอาเมืองเชียงใหม่ ยับเอาชาวเช็กชาวใต้ข้าหื้อเสี้ยง แม่นเด็กน้อยนอนอู่ก็อย่าได้ไว้เทอะ หื้อพร้อมกันที่หน้าวัดเกตริมพิงค์ หัวขัวคูลา เช้ามืดไก่ขันสามตั้ง เดือน ๑๑ แรม ๑๑ฅ่ำ หมายนี้หื้อหนานปัญญา บ้านฟ้ามุ่ย เอาเมือส่ง ..[๕]

สังเกตว่าเมื่อเริ่มต้นต่อต้านสยามเจ้านายขุนนางในนครเชียงใหม่ก็ใช้ “เงี้ยว” (ไทใหญ่ ไทเขิน) เป็นผู้นำทำการ ที่มีเหตุผลหลายๆ ประการ คือ เงี้ยวเป็นผู้มีเครือข่ายกับ “เจ้านาย” “ญาติมิตร” “ญาติพี่น้อง” กลุ่มใหญ่ที่อยู่นอกอิทธิพลสยาม(รัฐฉาน) ไม่ได้เป็นคนในบังคับสยาม รวมถึงชาวเมืองในยุคนั้นเชื่อถือว่าเงี้ยวมีฝีมือทางการต่อสู้ สันนิษฐานว่าการต่อต้านครั้งเหล่านี้ได้เป็นพื้นฐานความคิดสำคัญที่เจ้านายขุนนางล้านนาจะใช้ “เงี้ยว” ทำการต่อต้านสยามอีกครั้งและถือว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดใน พ.ศ.๒๔๔๕ 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญอีกหลายประการที่บีบรัดให้ล้านนาทำการต่อต้าน โดยเฉพาะเรื่องการเก็บภาษีต่างๆ เป็นเงิน ขณะที่ชาวบ้านยังมีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระบบผลิตพอยังชีพและบางครั้งก็ยังต้องถูกเกณฑ์เหมือนเดิม แต่อดีตได้เสียภาษีเป็นผลผลิตที่มีอยู่แล้วภายในท้องถิ่นและเก็บจำนวนน้อยมาก

เช่น เมืองฝางปลูกข้าวได้ ๑๐๐กระบุงจัดเก็บหางข้าว ๒ กระบุง[๖] แต่เมื่อสยามนำระบบการเก็บภาษีแบบสยามมาใช้ในล้านนา จึงได้เปลี่ยนจากเก็บภาษีตามปริมาณเมล็ดพันธุ์หรือจำนวนผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้เป็นตามขนาดพื้นที่ เปลี่ยนเก็บภาษีจากผลผลิตที่ได้ให้เป็นตัวเงินและเพิ่มชนิดที่ต้องเสียมากขึ้น เพื่อสะดวกในการดึงดูดผลประโยชน์และเพิ่มพูนรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังสยามในรูปของเงิน ดังกงสุลฝรั่งเศสได้กล่าววิพากษ์การกระทำของสยามในยุคนั้นว่า 

“... แม้ภาษีชนิดต่างๆ ได้เรียกเก็บจากชาวเมืองก็ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์แก่เมืองเลย เงินถูกไหลลงท่อส่งไปยังกรุงเทพฯ หมด การปกครองแบบใหม่จะเริ่มใช้มากกว่า ๒ ปีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีการกระทำใดๆ ในรูปงานสาธารณะประโยชน์เลย เงินในพื้นบ้านก็มีน้อยลงยากจนลงทุกปี ...”[๗]

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ 
พระเจ้านครเชียงใหม่พระองค์ที่ ๗ 
(กจช. ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๓๕–๒๔๔๐)
ส่วนเจ้านายในล้านนากลับถูกลิดรอนอำนาจและผลประโยชน์ทุกๆ ด้านจึงเกิดความไม่พอใจ

สะท้อนจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ตรัสว่า “...ทุกวันนี้เมืองเชียงใหม่มีแต่กระดูก แต่ชิ้นเนื้อผู้อื่นเอาไปกินเสี้ยง...”[๘] เจ้าผู้ครองนครลำปาง “ความต้องการเกลือ ทำให้ต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ”  หรือเจ้าผู้ครองนครลำพูน “เป็นพันธมิตรกับไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้น แต่เนื่องจากกษัตริย์มีอำนาจมากจึงยอมสวามิภักดิ์”[๙]

ในขณะเดียวกันก็ปรากฏมีการส่งราชสาส์นลับระหว่างเมืองของเจ้าอุปราช (เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์) เจ้าผู้รั้งเมืองนครเชียงใหม่ที่ให้คนสนิทนำไปถึงเจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง (พ.ศ.๒๔๔๐–๒๔๖๕) และเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน (พ.ศ.๒๔๓๘ – ๒๔๕๔) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ชักชวนให้พร้อมกันมีศุภอักษรลงไปต่อรองกับสยามเพื่อขอให้กลับมา “...มีอำนาจอยู่ตามประเพณีบ้านเมืองดังแต่ก่อนมา...”[๑๐] ซึ่งเจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิตก็แสดงความในใจในราชสาส์นลับตอบกลับมายังเจ้าอุปราช เมืองนครเชียงใหม่ว่า 

“... ราชการบ้านเมืองในสมัยนี้ก็แปรปรวนไปต่างๆ ไม่เหมือนแต่เช่นพระอัยโกอัยการ์เจ้าข้าพี่น้องกาลนานมาแต่ก่อนๆ มาบัดนี้บุญก็มาถึงเราเจ้าข้าพี่น้องได้รักษาราชสมบัติบ้านเมืองสืบวงษ์กระกูลในสมัยนี้ ก็มาเกิดแปรปรวนไปต่างๆ ดังนี้ ก็เปนกรรมของเราเจ้าข้าพี่น้องมาแต่หนหลัง ก็ชอบที่เราเจ้าข้าพี่น้องพร้อมมูลปรองดองกัน ปฤกษาผ่อนผันไปทีละเล็กละน้อยกว่าจะเปนไปตามกาล ...”[๑๑]

กอปรกับหัวเมืองต่างๆ เกิดภาวะ “กลั้นข้าว” หรืออดอยากเนื่องจากฝนแล้งต่อเนื่องมาหลายปีเก็บเกี่ยวผลผลิตแทบไม่ได้ จากอดีตหากชาวบ้านขาดแคลนข้าวก็จะได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ปกครอง ดังเจ้าเมืองลองให้ชาวบ้านยืมข้าวไปบริโภค หรือชาวเมืองสะเอียบส่งส่วยข้าวสารให้เจ้าเมืองสาๆ ส่งให้นครน่าน เมื่อขาดแคลนข้าวเจ้าผู้ครองนครน่านก็จัดส่งข้าวโพดมาให้[๑๒]

เมื่อเก็บภาษีเป็นเงินกลายเป็นการเรียกเก็บผลประโยชน์ฝ่ายเดียวจากชาวบ้าน เมื่อเก็บเกี่ยวขายผลผลิตไม่ได้ก็ไม่มีเงินเสียภาษี ดังในเมืองนครน่านชาวบ้านต้องพากันขายทรัพย์สิน วัวควาย ที่ดิน เพื่อนำเงินมาเสียภาษี บางรายทนการบีบบังคับไม่ไหวก็หนีเข้าป่าหรือข้ามไปอยู่ฝั่งลาว[๑๓] โดยเฉพาะเมืองลอง เมืองต้าที่ตามจารีตเดิมถือว่าเป็น “เมืองพระธาตุ” และ “เมืองส่งส่วยเหล็ก” จะได้รับยกเว้นการเก็บภาษีทุกชนิดจากนครลำปาง แต่เมื่อสยามเข้ามายึดรวมล้านนาเป็นส่วนหนึ่งใน พ.ศ.๒๔๔๒ มีการเก็บภาษีเป็นเงินและมีชนิดสิ่งของที่ต้องเสียมากมายหลายอย่าง ชาวบ้านจึงรู้สึกว่าเป็นภาระหนักยิ่งกว่าสมัยเจ้าเมืองและเจ้าผู้ครองนครเกณฑ์ ดังปรากฏในค่าวบรรยายความทุกข์ยากที่ชาวเมืองได้รับจากการเสียภาษีว่า 

“... ฅวามทุกข์ใจ มีไปหลายชั้น กลั้นเข้าเท่าอั้น พอดี ข้อ ๑ นั้นเทอะ อาชญาภาสี บ่มีจำมี หนีบเตงใจ้ๆ จักซื้อเข้ากิน ยังหาบ่ได้ ซ้ำเสียชอมไป เปล่าว้าง ฅนเก็บกันหนี ทึงวันบ่ย้าง เกือบจักเกิ่งบ้าน เมืองฅอน พร่องเถ้าแก่ฅ้าว หัวพอขาวผอน บ้านเกิดเมืองนอน บ่แหนมอยู่ได้ อันเงินแถบตรา แทงค่าบาทใต้ ใช่เก็บเอาไป ง่ายและ เก็บได้เหมือนหิน แร่ก้อนในแภะ นั้นพร่องอั้น ยังแฅวน จักเก็บจ่ายซื้อ วันสองสามแสน เม้าเงินฅำแดง บ่กลัวได้หื้อ นี้พวกชุมเรา ถงเบาเหมือนหมื้อ ฮิได้เท่าฮือ บ่ฅ้าง เก็บใส่ถงหนัง ทังวันบ่ย้าง เพื่อรับบ่ายจ้าง เอามา ...”[๑๔]

ความไม่พอใจจะทำการ “ฟื้นสยาม” ของเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย เจ้าเมือง พ่อเมือง ขุนนาง และชาวเมืองจึงประทุเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ จนเกิดกระแสข่าวลือลงไปถึงสยามมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๓ ภายหลังทำการปฏิรูปเพียงหนึ่งปีดังมีความว่า 

“... พวกลาว(คนล้านนา - ผู้เขียน)กับพม่า เงี้ยว จีน ในเมืองนครเชียงใหม่ มีอุปราช ราชวงษ์ เปนต้น จะก่อความจลาจลล้างผลาญพวกไทย แลโดยข่าวว่าเพราะเหตุ การที่ไทยปกครองบ้านเมืองเปนลำดับมา พวกลาวมีแต่ตกขอบลงทุกทีจนถึงที่สุดก็จะต้องตักน้ำกินเอง โดยทาสก็จะไม่มีใช้ ป่าไม้ก็หมดแล้ว ...แลข่าวว่าลาวร่วมคิดกันทุกเมืองในมณฑลนี้ บางทีจะลงมือเร็วๆ นี้ ...แลข่าวว่ากำลังสะสมอาวุธอยู่ด้วย แลเรื่องปืนร้อยเก้ากระบอกนครลำปางนั้นก็ชอบกลอยู่ บางทีจะเข้ารอยนี้ ...”[๑๕]

พระเจ้าแสนหวาย 
พระประธานวิหารวัดต้าม่อน 
สร้างเมื่อพ.ศ.๒๔๒๗ โดยศรัทธาชาวนครเชียงตุง
ที่เข้ามาทำไม้ในเมืองต้า 
(ที่มา : บุญฤทธิ์ โพธิจันทร์) 
และเริ่มเกิดปฏิกิริยาต่อต้านขึ้นไปทั่ว เช่น เมืองนครเชียงใหม่ เจ้าอุปราช(เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์) พยายามเรียกร้องอำนาจการศาลกลับคืน ให้ลดอำนาจข้าหลวงประจำเมือง และกำชับไม่ให้ทุกคนอำนวยความสะดวกใดๆแก่ข้าหลวงใหญ่เป็นอันขาด มีการลักลอบเผาที่ว่าการแขวงแม่ออน(สันกำแพง)และแขวงจอมทอง นายแขวงแม่ท่าช้าง(หางดง)ถูกฆ่า เมืองนครลำปาง เจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิตไม่ค่อยยอมให้ความร่วมมือแก่ข้าหลวง ชาวเมืองนครลำปางและนครลำพูนขัดขืนการเกณฑ์ พญาเขื่อนขัณฑ์ เจ้าเมืองพร้าว พร้อมชาวเมืองพร้าวร่วม ๖๐๐ คนขัดขืนการเกณฑ์และเข้าทำร้ายนายแขวงเมืองพร้าว(แม่งัด)[๑๖] ท้าวอินทร์ ท้าวพรหม สองพี่น้อง พร้อมกับแสนท้าวและชาวเมืองแจ๋มฆ่าข้าราชการสยามในแคว้นแม่แจ่ม(แจ๋ม) แขวงจอมทอง[๑๗]

เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ (พ.ศ.๒๔๓๒ – ๒๔๔๕) นำเงินคลังหลวงนครแพร่ไปใช้ในกิจการป่าไม้ เพราะตามจารีตถือว่าเงินทองของบ้านเมืองก็คือสมบัติของเจ้าผู้ครองนคร แต่เมื่อสยามส่งพระยาศรีสหเทพ ข้าหลวงพิเศษ (พ.ศ.๒๔๔๒ –๒๔๔๓) ขึ้นมาปฏิรูปการเก็บภาษีได้กักตัวเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ไว้เกือบ ๒๔ ชั่วโมง เพื่อให้ญาติหาเงินมาไถ่ตัวจนครบ โดยทายาทต้องรีบหากู้ยืมเงินที่มีดอกเบี้ยสูงมากมาไถ่ตัว[๑๘] ซึ่งเป็นการลบหลู่เกียรติยศศักดิ์ศรีของเจ้านายนครแพร่อย่างมาก และพระทุติยรัฐบุรินทร์ (เจ้าน้อยมหาเทพ) เจ้าเมืองสอง นัดดา(หลาน)ของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ก็เกิดความไม่พอใจที่มีข้าราชการสยามขึ้นมาปกครองแขวงเมืองสอง(ยมเหนือ)แทน 

มื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พอใจ ตั้งแต่เจ้าผู้ครองนครจนถึงชาวเมืองและตึงเครียดมากยิ่งขึ้น จึงเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงที่สุดในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ที่ฝ่ายสยามเรียกว่า “กบฏเงี้ยว

จุดเริ่มต้นหรือแหล่งซ่องสุมกำลังคือ บ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง นครลำปาง หมู่บ้านปลายเขตแดนที่ตั้งอยู่อีกฝากหนึ่งของเชิงเขาเมืองลองซึ่งติดกับนครแพร่ เดิมบริเวณนี้เป็นแหล่งทำไม้และเป็นซอกเขาเส้นทางเดินของพ่อค้าสัตว์ต่าง ทั้งเงี้ยว ฮ่อ(จีนยูนนาน) แขก คนเมืองที่สัญจรผ่านไปมาระหว่างนครแพร่ เมืองลอง นครลำปาง แต่ด้วยบริเวณนี้มีพลอยไพลิน ภายหลังเงี้ยวจากนครเชียงตุงที่ได้เข้ามาทำป่าไม้และติดต่อค้าขายในเมืองลองพบและเข้ามาขุด จาก “ปางไม้” “ปางขุดแก้ว(พลอย)” หรือที่พักของคนเดินทาง จึงกลายเป็นชุมชนตั้งถิ่นฐานถาวรเรียกชื่อว่า “บ้านบ่อแก้ว” มีการสร้างวัดเงี้ยวขึ้นประจำหมู่บ้าน ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์มีบ้านเรือนตั้งอยู่ประมาณ ๘๐ หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นชาวนครเชียงตุง (ไทเขิน ไทใหญ่ ไทเหนือ ไทลื้อ) มีพม่า ขมุ ต่องสู้ และคนเมืองบางส่วนที่เข้ามาทำป่าไม้ 

นายฮ้อยพะก่าหม่อง 
หนึ่งในหัวหน้าทำการต่อต้านสยาม 
(ที่มา : หนังสือเล่าเรื่องเมืองแพร่ในอดีต) 
เหตุการณ์ครั้งนี้ นำโดยนายฮ้อยสล่าโป่จายเฮ็ดแมนเมืองลอง  (บ้านบ่อแก้ว) นายฮ้อยพะก่าหม่อง (เขยหม่องกุณะ บ้านป่าผึ้ง แขวงสูงเม่น) และนายฮ้อยจองแข่ (บ้านบ่อแก้ว) ทั้งสามคน นอกจากเคยได้รับการอุปถัมภ์ช่วยเหลือจาก เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์[๑๙] ยังมีความคุ้นเคยและได้รับการอุปถัมภ์จากกลุ่มผู้ปกครอง และชาวเมืองลอง เมืองต้าเป็นอย่างดี เพราะมีชาวนครเชียงตุงส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเมืองลอง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๔๗ ภายหลังมีการทำป่าไม้ส่วนใหญ่ ทั้งเมืองลอง เมืองต้าแรงงานก็มาจากนครเชียงตุง (เมืองต้า พ.ศ.๒๔๒๕ มีเงี้ยว ๕๐ หลังคาเรือน) มีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน โดยเฉพาะสินค้าเหล็กที่เจ้าเมืองลองผูกขาดอยู่ รวมถึงวัดวาอารามและถาวรวัตถุต่างๆ ล้วนได้รับการสร้างและอุปถัมภ์จากนายฮ้อยไม้

ดังมีคำยกย่องบรรดาศักดิ์ทางพุทธศาสนาจากพระสงฆ์ และมหาชนนำหน้าชื่อว่า “พะก่า(พญาตะก่า)” “จอง” หรือเรียกช่างว่า “สล่า” และมีการสมรสระหว่างกันมาเป็นเวลายาวนานจึงมีความผูกพันอย่างแนบแน่น[๒๐] เงี้ยวในจิตสำนึกของคนเมืองลอง เมืองต้าขณะนั้นจึงไม่ใช่ “คนอื่น” แต่เป็นญาติพี่น้อง สะท้อนจากชาวเมืองจนถึงชนชั้นผู้ปกครองนิยมโพกศีรษะแต่งตัวแบบเงี้ยวหรือนุ่งโสร่งแบบพม่าที่ถือเป็นเรื่องปกติสามัญ ซึ่งเงี้ยวที่เข้ามาช่วงนี้ เมื่อได้สมรสหรือตั้งถิ่นฐานในเมืองลองก็ยังผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนเดิม ดังเมื่อแรกเข้ามาเมืองลองก็สร้างบ้านเรือนริมหนองบวกคำเหมือนที่หนองคำ นครเชียงตุง หรือสั่งเสียบุตรหลานว่าหากสิ้นชีวิตก็ให้เอาเถ้ากระดูกไปลอยที่หนองตุง นครเชียงตุง[๒๑]

ความเป็น “ญาติมิตร” กรณีระหว่างเงี้ยวกับคนเมืองลอง เมืองต้า ก็เหมือนกับหัวเมืองทั้งหลายในล้านนา จึงทำให้เหตุการณ์ขยายวงกว้างได้อย่างรวดเร็วถึงนครแพร่ เมืองสอง เมืองสะเอียบ เมืองเชียงม่วน เมืองเชียงของ เมืองงาว เมืองพะเยา เมืองเชียงคำ เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย นครลำปาง นครลำพูน นครเชียงใหม่ ฯลฯ โดยการต่อต้านสยามในครั้งนี้ ก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าเมืองลอง เจ้าเมืองต้า และขุนนางเกณฑ์เสบียงอาหารส่งให้ อีกทั้งคนในแขวงเมืองลอง (เมืองลอง เมืองต้า) บางส่วนก็เข้าช่วยเงี้ยวรบด้วย เนื่องจากพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ (เจ้าหนานคันธิยะ) เจ้าเมืองลอง (พ.ศ.๒๔๓๕ –๒๔๔๕) แสนไชยยะ เจ้าเมืองต้า และขุนนางมีความบาดหมางใจกับสยามอยู่ก่อนแล้ว คือ 

กุบละแอจิกคำ (หมวกเทียมยศ) ของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ 
เจ้าเมืองลอง(พ.ศ.๒๔๓๕ – ๒๔๔๕)  
(ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง อ.ลอง) 
(๑) สยามไม่ยอมรับไมตรีเมื่อพญาไชยชนะชุมพูเจ้าเมืองลอง (พ.ศ.๒๓๙๘ –๒๔๓๕) และแสนหลวงขัติยะ บุตรชายขอยกฐานะเมืองลองขึ้นเป็นเมืองประเทศราชเมื่อ ๑๐ ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ (ส่วนเมืองต้าก็ขอขึ้นตามเมืองลองไปด้วย) 

(๒) สยามไม่ยอมรับรองแต่งตั้งให้พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เมื่อครั้งยังเป็นแสนหลวงขัติยะ ซึ่งได้นำเครื่องราชบรรณาการลงไปถวายรัชกาลที่ ๕ ถึงสี่ครั้งเพื่อขอขึ้นเป็นเมืองประเทศราช และขอแต่งตั้งแสนหลวงขัติยะขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง 

แสนหลวงขัติยะจึงต้องรอจนกระทั่งเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิตวราวุธ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕ –๒๔๔๐) รับรองแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองแทนบิดาใน พ.ศ.๒๔๓๕ แต่เมื่อปฏิรูปการปกครอง พ.ศ.๒๔๔๒ สยามยังทำการริบอำนาจราชศักดิ์พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลองและขุนนางให้ออกจากการปกครองบ้านเมืองทั้งที่เพิ่งได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองเพียง ๗ ปี พร้อมกับได้จัดส่งข้าราชการสยามขึ้นมาเป็นนายแขวงเมืองลองแทนกลุ่มผู้ปกครองเดิม 

บ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง นครลำปาง 
 ในช่วงเกิดเหตุการณ์ 
(ที่มา :หนังสือเล่าเรื่องเมืองแพร่ในอดีต)
(๓) ต้องสูญเสียผลประโยชน์ต่างๆ ของเจ้าเมืองลอง เจ้าเมืองต้ากับกลุ่มเงี้ยว โดยเฉพาะการทำป่าไม้ การค้าเหล็ก และขุดพลอยไพลิน กอปรกับชาวเมืองลอง เมืองต้า มีความเดือดร้อนจากการเสียภาษี บางครอบครัวก็จะหนีจากบ้านเมือง จึงพากันเข้าร้องขอให้เจ้าเมือง และขุนนางเค้าสนามช่วยเหลือ อีกทั้งนาผีเมือง (นาหลวง) ของเมืองต้าที่เดิมปลูกข้าวไว้ใช้ในพิธีเลี้ยงผีเมืองต้าและเลี้ยงผู้คนที่เข้าร่วม ก็ถูกยึดเป็นของรัฐบาล เพราะไม่มีเงินเสียค่าภาษีนา ที่ส่งผลกระทบต่อประเพณีการเลี้ยงผีเมืองต้า 

ด้วยเหตุข้างต้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจ้าเมืองลอง เจ้าเมืองต้า ขุนนาง ตลอดถึงชาวเมืองได้สนับสนุนการ “ฟื้นสยาม” แต่เอกสารราชการสยามกลับบันทึกว่า “เงี้ยวตีเมืองลองแตกและยึดเมืองลองได้เป็นเมืองแรก”“มีเงี้ยวตรึงกำลังอยู่เมืองลอง ๖๐ คน” “คนในเมืองลองกลัวอยู่ในอำนาจเงี้ยวทั้งสิ้น”[๒๒]

าเหตุที่เลือกแขวงเมืองลองเป็นแหล่งเตรียมการเนื่องจาก 

(๑) แขวงเมืองลองปลอดจากข้าราชการสยาม เพราะหลวงฤทธิภิญโญยศ(แถม) ข้าราชการชาวสยามที่จัดส่งขึ้นมาเป็นนายแขวง(นายอำเภอ)เมืองลองทนสภาพอากาศไม่ไหวได้เสียชีวิต จึงไม่มีข้าราชการสยามประจำแขวงเมืองลอง แต่ให้ขึ้นกับกรมมหาดไทยนครลำปาง[๒๓]

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช 
พระเจ้านครน่าน(พ.ศ.๒๔๓๖ – ๒๔๖๑) 
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(๒) เมืองลองมีวัตถุดิบ เช่น แร่ตะกั่ว ที่บ่อจืน บ้านศรีดอนชัย เงี้ยวขุดขึ้นทำลูกกระสุนปืน[๒๔] ส่วนดินปืนจากขี้ค้างคาวมีมากตามถ้ำแถบนี้ อีกทั้งต่างเมืองก็รับรู้ว่ามีคุณภาพดี[๒๕] โดยเฉพาะบ่อเหล็กลองและบ่อเหล็กต้า มีเงี้ยวกับชาวเมืองขุดขึ้นมาผลิตอาวุธเตรียมการมาตั้งแต่วันเลี้ยงผีบ่อเหล็กประมาณ ๕ – ๖ เดือน[๒๖] ซึ่งในวันนี้ เจ้าผู้ครองนครลำปาง เจ้านาย เจ้าเมืองลอง เจ้าเมืองต้า และแสนท้าวจะต้องมาเป็นประธานและร่วมในพิธี การขุดจึงอยู่ในกำกับของเหล่าเจ้านายและขุนนาง 

(๓) เป็นแหล่งที่เหมาะสม เพราะนครลำปางและเมืองลองเป็นเมืองที่อยู่กึ่งกลางล้านนา กระจายไปยังเมืองรายรอบได้สะดวก ที่ขณะนั้นทุกหัวเมืองในล้านนายังไม่มีกองกำลังสยามมาประจำการ และบ้านบ่อแก้วเป็นเส้นทางสัญจร และจุดศูนย์รวมของคนหลากหลายเชื้อชาติที่เข้ามาแสวงโชค มีสภาพภูมิประเทศเป็นซอกเขาเข้าหลบซ่อนและโจมตีศัตรูได้ง่าย อีกทั้งใกล้กับนครแพร่ที่เป็นนครประเทศราชขนาดเล็กที่สุดในบรรดานครทั้ง ๕ และมีอาณาเขตติดกับหัวเมืองสยาม 

หากทำการที่นครแพร่สำเร็จก็เหมือนปิดทางเข้าช่วยเหลือข้าราชการสยามที่อยู่หัวเมืองภายใน ดังสล่าโป่จายตั้งสกัดกองทัพสยามไม่ให้ขึ้นมาทางเขาพลึง (สันเขาแบ่งเขตระหว่างนครแพร่กับอุตรดิตถ์) เรื่องนี้สยามก็รับรู้จึงกล่าวว่าเมืองนครลำปาง เมืองลอง เมืองต้า เป็น “รังผู้ร้าย[๒๗] และรับรู้ว่ามีการร่วมมือกันของเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย ขุนนาง เจ้าเมือง และพ่อเมืองต่างๆในล้านนา

“... ฉันได้พบหลวงจิตรจำนงวานิชเมื่อเลิกประชุมแล้ว ทั้งสังเกตดูตามข่าวที่ได้ทราบมาตามลำดับ เหนว่าความไม่พอใจบางอย่างฤาความปราถนาซึ่งเปนธรรมดาคนอยากจะมีจะเปนนั้นมีอยู่จริงในเจ้าลาวเหล่านี้ ...กลิ่นไชยชะนะของพวกเงี้ยวในเมืองแพร่ครั้งนี้ปรากฏขึ้นไปถึงเมืองนครลำปาง เมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ เมืองน่าน เงี้ยวในเมืองเหล่านั้น(สองหมื่นกว่าคน-ผู้เขียน)คงลุกขึ้นอย่างเดียวกันหมด เจ้านายแลราษฎรในเมืองเหล่านั้นคงมีใจอย่างเดียวกันกับพวกเมืองแพร่หมด เมื่อเปนไปด้วยกันทั้งหมดเราปราบปรามไม่ไหวฤาขี้คร้าน ก็คงจะยอมให้มีอำนาจไปอย่างเดิม ...”[๒๘]

เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ 
เจ้านครแพร่องค์สุดท้าย(๒๔๓๒-๒๔๔๕) 
(ที่มา : หนังสือเล่าเรื่องเมืองแพร่ในอดีต)
เป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนวันเกิดเหตุการณ์ “กบฏเงี้ยว” ๒ วัน ทหาร ตำรวจ นครลำปางเข้าปราบกลุ่มคน (เงี้ยว คนเมือง ขมุ) ที่เคยออกปล้นผู้สัญจรไปมาและหลบหนีมาซ่องสุมอยู่ที่บ้านบ่อแก้วไม่ได้ ยังทิ้งปืน กระสุน และเสบียงอาหารจำนวนมากไว้ให้[๒๙]

ต่อมาเช้าวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ เงี้ยวที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของบ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง นครลำปาง ก็เป็นผู้นำกองกำลังกว่า ๕๐๐ คนเข้าทำลายสถานที่ราชการในนครแพร่ อันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจสยาม และฆ่าเฉพาะ “คนไทย” ที่ขึ้นมาทำราชการ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้านาย ขุนนางราษฎรนครแพร่ เมืองสอง ที่มีหลักฐานว่าได้มีการเตรียมการกันไว้ก่อน และมีการติดต่อปรึกษากันของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ กับพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช พระเจ้านครน่าน และเจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง[๓๐]

สาเหตุที่เลือกคนบ้านบ่อแก้วเป็นผู้ทำการ นอกจากเป็นกลุ่มคนในบังคับอังกฤษหรือฝรั่งเศสอยู่นอกกฎหมายสยาม เงี้ยวยังมีความชำนาญการใช้และผลิตอาวุธปืน ดังช่างทำปืนนครลำปางและเมืองลองในยุคนี้ ล้วนแต่เรียนวิธีการผลิตปืนมาจากเงี้ยวนครเชียงตุง[๓๑] กอปรกับคนเหล่านี้มีความแค้นเคืองสยามอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลสั่งปิดบ่อพลอยมาตั้งแต่ ๓ ปีก่อน (๕ มี.ค.๒๔๔๒) โดยให้เหตุผลว่า ได้ค่าใบอนุญาตหรือค่าตอบแทนน้อย และไม่ให้เป็นแหล่งซ่องสุมของคนร้าย ทำให้กลุ่มคนบ้านบ่อแก้ว ๒๐๐ กว่าคนไม่มีแหล่งทำกิน[๓๒]

และ พ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมา สยามมีการปักหลักหรือขีดเส้นเขตแดนแต่ละหน่วยการปกครองให้ชัดเจนรวมถึงแขวงเมืองลอง จากระบบจารีตไม่มีเส้นเขตแดนคงที่ การเดินทางติดต่อไปมาระหว่างคนล้านนากับผู้คนที่อยู่ในบ้านเมืองรายรอบถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีการขีดเส้นเขตแดนแบบใหม่ ถึงแม้เป็นเส้นสมมติ แต่ก็เสมือนเป็นกำแพงใหญ่มหึมาขวางกั้นไว้ แบ่งเป็น “คนใน” กับ “คนนอก” อย่างชัดเจน

เงี้ยว” รวมถึงคนกลุ่มต่างๆ ที่เคยสัญจรไปมาในดินแดนแถบนี้จึงกลายเป็น “คนอื่น” และ “คนนอก” สำหรับสยาม ซึ่งคำพูดของสล่าโป่จายเฮ็ดแมนเมืองลอง สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในเมืองลอง และหัวเมืองต่างๆ ในล้านนาได้เป็นอย่างดี เมื่อสยามขยายอิทธิพลขึ้นมายึดผนวกล้านนาใน พ.ศ.๒๔๔๒เป็นต้นมา

“... เมื่อแรกๆ เรามาถึงที่นี่ พบว่าเราอยู่โดยสงบสุขเหมือนคนอื่นๆ แต่ใน ๓ - ๔ ปีหลังนี้เราได้ถูกกดขี่โดยชาวสยามผู้ไม่ต้องการให้เราอยู่ในประเทศนี้ ข่มเหงเราดังนี้ เมื่อเราต้องการหนังสือเดินทางก็ขอการค้ำประกันและจะไม่ยอมให้เงี้ยวค้ำประกัน ถ้าเราขอร้องคนลาวคนลาวก็ไม่กล้าค้ำประกันเพราะผู้ใหญ่บ้านจะตำหนิการกระทำเช่นนั้น เราซื้อที่บ้านหรือนาไม่ได้เพราะผู้ใหญ่บ้านขัดขวาง สร้างวัดก็ไม่ได้เพราะไม่ยอมให้ไม้ฟรี เราถูกปฏิบัติเหมือนผู้ร้ายเพราะว่ามีคนชั่ว ๒-๓ คนอยู่ในหมู่พวกเรา ที่เหมือนกันทุกชุมชน ด้วยเหตุผลเหล่านี้เรามีความไม่พอใจมาก และขณะนี้เมื่อข้าหลวงลำปางส่งคนมาจับเรา ทุกคนเห็นพ้องกันว่าไม่ทนต่อไปอีกแล้วดังนั้นเราจึงป้องกันตัวเอง ภายหลังที่ตีคนลำปางยับไปแล้วเราก็โจมตีแพร่ เพราะว่าเราได้ยินว่าตำรวจจากนั่นจะส่งมาช่วยตำรวจลำปาง เราไม่ใช่ผู้ร้าย ไม่ต้องการทำอันตรายแก่บ้านเมือง แต่เราจะไม่ยอมให้ชาวสยามกลับมาอีก ...”[๓๓]

การต่อต้านสยามครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้ง “เงี้ยว” (ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ(ไทยอง) ไทเหนือ) ไทยวน (คนเมือง) พม่า ขมุ ต่องสู้ กะเหรี่ยง ลาว รวมถึงพระสงฆ์สามเณร หรือแม้แต่คนสยามเองก็เข้าร่วมด้วย เช่น พระไชยสงคราม(นายจอน) ซึ่งได้เป็นราชบุตรเขยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ก็ได้เกณฑ์ข้าวทุกหลังคาเรือนให้เงี้ยวไว้เป็นเสบียง[๓๔] แต่ภายหลังด้วยการขาดความร่วมมือระหว่างหัวเมืองต่างๆ ของล้านนาอย่างจริงจังจึงกระทำการไม่สำเร็จ สยามจึงได้ทำการปราบปรามและลงโทษผู้ต่อต้านที่นครแพร่อันเป็นเมืองเกิดเหตุการณ์ชัดเจนกว่าเมืองนครประเทศราชอื่นอย่างรุนแรงดังนี้คือ 

เจ้าแม่บัวไหลและราชบุตรราชธิดาที่คุ้มหลวงนครแพร่ 
(ที่มา : หนังสือเล่าเรื่องเมืองแพร่ในอดีต) 
(๑) เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์(เจ้าน้อยเทพวงศ์) เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่นครหลวงพระบาง(ลาว) สยามได้ปลดออกจากการเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ ถอดราชศักดิ์ลงเป็นไพร่ ให้เรียกว่าพระองค์ว่า “น้อยเทพวงศ์” พร้อมกับยึดคุ้มหลวงและราชสมบัติ 

(๒) แม่เจ้าบัวไหล พระชายาของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดออกจากสามัญสมาชิกาตติยจุลจอมเกล้า ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และถูกควบคุมลงไปกักตัวไว้ที่กรุงเทพฯ พร้อมกับราชบุตรราชธิดา 

(๓) พระยาบุรีรัตน์(เจ้าน้อยหนู) น้องเขยเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกภาคทัณฑ์ ให้ย้ายออกจากนครแพร่ชั่วคราว และงดสิทธิพิเศษต่างๆ จนกว่าจะแสดงความจงรักภักดีให้สยามพอใจ 

(๔) พระยาราชบุตร(เจ้าน้อยยอดฟ้า) สวามีเจ้าหญิงสุพรรณวดี ราชบุตรเขยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดยศศักดิ์ ริบทรัพย์สมบัติ ให้ชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ และให้ย้ายออกจากนครแพร่ 

(๕) พระไชยสงคราม(นายจอน) สวามีเจ้าหญิงยวงคำ ราชบุตรเขยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดยศศักดิ์ และจำคุกไม่มีกำหนดที่กรุงเทพฯ ภายหลังลดเหลือ ๗ ปี 

(๖) พระเมืองไชย(เจ้าน้อยไชยลังกา) น้องชายของพระยาบุรีรัตน์ ถูกถอดยศศักดิ์ และจำคุกไม่มีกำหนดที่กรุงเทพฯ ภายหลังลดเหลือ ๓ ปี 

(๗) เจ้าน้อยพุ่ม บุตรของพระจันทราชา ถูกจำคุกที่กรุงเทพฯ ๕ ปี 

(๘) เจ้าน้อยสวน ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้พิพากษารองนครแพร่และจำคุก ๓ ปี 

(๙) พญาชนะ ขุนนางคนสนิทของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกจำคุกไม่มีกำหนด และภายหลังได้ผูกคอตายในคุก 

(๑๐) พญายอด พ่อแคว้น พร้อมกับแก่บ้าน คนเงี้ยว คนเมือง คนต่องสู้ จำนวนหลายคนถูกตัดสินประหารชีวิต 

(๑๑) คนเงี้ยว คนเมือง คนพม่า คนแขก จำนวน ๑๖ คนถูกส่งลงไปจำคุกมหันตโทษอย่างไม่มีกำหนด ที่กรุงเทพฯ[๓๕]

มื่อสยามปราบปรามอย่างรุนแรง เจ้านายนครแพร่ก็เกิดความกลัวและอยู่ในภาวะตึงเครียด ดังเช่น เจ้าหญิงยวงคำ เมื่อสยามทำการสอบสวน ก็ได้ให้การซัดทอดว่า เจ้าหญิงเวียงชื่น ผู้เป็นพี่สาว และเจ้าแม่บัวไหล ผู้เป็นมารดาเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่สุด เจ้านายบางองค์ก็หลบลี้หนีภัยออกจากนครแพร่ไปอยู่แถบเมืองชายแดนที่ติดกับพม่า เช่น เมืองตากหรือเมืองที่ห่างไกลจากนครแพร่ และเจ้านายบางองค์ก็ถึงกับต้องปลงพระชนม์ชีพตนเอง เช่น พระยาราชวงศ์ (เจ้าน้อยบุญศรี) พร้อมกับชายา (เจ้าหญิงเวียงชื่น) ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย

แม่บัวคำ 
ธิดาคนเล็กของเจ้าเมืองลองคนสุดท้าย 
(ที่มา :พิพิธภัณฑ์วัดแม่ลานเหนือ) 
ส่วนเจ้านายระดับรองลงมาที่ไม่ได้เป็นเจ้าชั้นใกล้ชิดกับเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ซึ่งมีส่วนรู้เห็นแต่ไม่ได้รับโทษหนัก เพียงแต่ถูกสยามควบคุมดูความประพฤติ เช่น พระวิไชยราชา (เจ้าหนานขัติย์) พระวังซ้าย (เจ้าหนานมหาจักร) พระสุริยะ (เจ้าน้อยมหาอินทร์) พระคำลือ ฯลฯ เจ้านายเหล่านี้พร้อมกับบุตรหลานรวมจนถึงขุนนางในนครแพร่ เมื่อถูกควบคุมความประพฤติ ก็หันมาให้การสนับสนุนราชการสยามเป็นอย่างดี เพื่อทำให้สยามพอใจ เช่น พากันบริจาคเงินก้อนใหญ่รายละ ๕๐–๑๐๐ บาท เพื่อสร้างโรงพยาบาลทหารที่นครแพร่ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๕ ตามความคิดของคุณหญิงเลี่ยม ภริยาของพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ปราบกบฏเงี้ยว[๓๖] เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อสยามมีการลงโทษผู้ต่อต้านสยามอย่างรุนแรง ที่เรียกว่า ล้มระบบเจ้าของราชวงศ์เมืองนครแพร่ทั้งระบบ โดยการประหารชีวิตและจำคุก ยึดคุ้มหลวง ยึดราชสมบัติ นำชายาราชบุตรธิดาของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ลงไปกักตัวไว้กรุงเทพฯ ถอดราชศักดิ์เจ้านายนครแพร่ และจัดส่งข้าราชการสยามขึ้นมาปกครองแทนทั้งหมดแม้ราชทินนามเดิม “พระยาพิริยวิไชย” ของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ รัชกาลที่ ๕   ก็ทรงถือว่าเป็นนามอัปมงคลจะไม่มีการนำมาตั้งอีกต่อไป[๓๗]

การปราบปรามอย่างรุนแรงของสยามจึงทำให้ท่าทีของกลุ่มเจ้านายหัวเมืองอื่นๆเปลี่ยนไป เพราะเห็นแล้วว่า เป็นอิสระจากสยามไม่ได้อย่างแน่นอน จึงหันมาช่วยเหลือในการปราบปรามเงี้ยวอย่างเต็มที่ รวมถึงเจ้าผู้ครองนครลำปาง ที่เกณฑ์เจ้านายบุตรหลานและออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวมากถึง ๓๐,๑๙๕ รูปี เพื่อใช้ปราบปราม ขณะก่อนหน้านี้เจ้านายขุนนางและไพร่พลของล้านนาทำไปเพียงตามหน้าที่ เพราะขัดทางสยามไม่ได้ สะท้อนจากกองกำลังปราบเงี้ยวนครน่านที่รักษาด่านวังม่วงของเจ้าจันทวงศ์ (ราชบุตรพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช) ไพร่พลยังมีการนำเอาใบลานมานั่งจารคัมภีร์ธรรมไปด้วยขณะปฏิบัติหน้าที่[๓๘]

สถานที่ฝังศพของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจเจ้าเมืองลอง 
หน้าทางเข้าป่าช้าบ้านแม่ลานเหนือช่วง พ.ศ.๒๔๔๕–๒๔๔๘ 
(ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๒)
ฝ่ายเจ้าเมืองลอง เสนาบดี แสนท้าวก็ส่งบุตรหลานเข้าช่วยปราบปรามเงี้ยวในครั้งนี้[๓๙] แต่ขณะที่เกิดเหตุช่วงแรกเจ้าเมืองลองและขุนนางอยู่ภายในเมืองให้การสนับสนุนโดยไม่ขัดขวาง ที่อาจมาจากเจ้าเมืองลองถือว่า ตนไม่มีอำนาจในการเกณฑ์ไพร่เหมือนอดีต และเงี้ยวเหล่านี้ก็คือคนที่เคยให้การอุปถัมภ์ติดต่อค้าขาย รวมถึงเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยทำนุบำรุงพุทธศาสนา และเป็นญาติของผู้คนในเมืองลอง 

จนเมื่อสยามปราบปรามและลงโทษอย่างรุนแรงที่นครแพร่ เจ้าเมืองลองและขุนนางจึงจำเป็นต้องเกณฑ์บุตรหลานเข้าช่วย แต่ก็ยังถูกเพ่งเล็งจากทางสยาม เป็นเหตุให้สยามใช้กลุ่ม “เงี้ยว”[๔๐] จำนวน ๑๒ คนจากนครแพร่เข้ามาทางบ้านปินได้ลอบสังหารพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง พร้อมขุนนางเค้าสนามเมืองลอง ๓ คน และชาวบ้านอีก ๑ คน ที่คุ้มบ้านแม่ลานเหนือ คือ แสนแก้ว จะเรหลวง (หัวหน้าเสมียน) บ้านปิน หนานกันทะสอน หนานอิสระ จะเร (เสมียน) บ้านดอนทราย และชาวบ้านนาอุ่นน่องที่มาเสียภาษีค่าตอไม้ ซึ่งการฆาตกรรมครั้งนี้มีจุดน่าสังเกต คือ

(๑) สยามคิดกำจัดเฉพาะบุคคลที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผนวกรวมล้านนาเข้ากับสยาม เพราะขณะที่แม่เจ้าบุญมา ภรรยาเจ้าเมืองลองที่นอนป่วยเป็นโรคฝีดาษอยู่ในห้อง และธิดาที่อาศัยภายในคุ้มกลับไม่ถูกทำร้าย แต่สามเณรปัญญาเถิง วัดแม่ลานเหนือ บุตรชายคนเดียว ผู้มีสิทธิธรรมขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองคนต่อไป เกือบถูกสังหารในครั้งนั้น 

(๒) เหตุการณ์นี้ (๓๐ ตุลาคม ๒๔๔๕) ห่างจากวันเริ่มต้น “กบฏเงี้ยว” กว่า ๓ เดือน แต่ห่างจากวันที่สยามทำการสอบสวนตัดสินชำระคดี “นักโทษกบฏ” ไม่นาน 

(๓) เรื่องเจ้าเมืองลองและขุนนางเค้าสนามถูกฆ่าได้ถูกปิดเป็นเงื่อนงำ ไม่มีการกล่าวถึงในเอกสารรายงาน ทั้งจากนครลำปางหรือข้าราชการสยามเลย ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงภรรยาบุตรธิดาของเจ้าเมืองลอง ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ก็ปิดเงียบไม่ยอมพูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น นอกจากเพียงบอกเล่าให้ชาวบ้านชาวเมืองรับรู้ว่า “เงี้ยวฆ่า” แต่ในขณะที่บ้านหนานอ่อน ราษฎรเมืองลองถูกเงี้ยวที่ทางสยามติดตามจับเข้ามาปล้นกลับมีรายงานถึงกรุงเทพฯ[๔๑]

เจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิต 
เจ้านครลำปางองค์สุดท้าย(๒๔๔๐–๒๔๖๕) 
(ที่มา : หนังสือพระราชทานเพลิงศพ 
เจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง)
การลอบสังหารพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง พร้อมกับขุนนางเค้าสนามครั้งนี้ สันนิษฐานว่า เพื่อเป็นการกำจัดผู้ต่อต้านโดยทางลับ ไม่ให้เป็นผู้นำปลุกระดมคน และให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่เจ้านายขุนนางในเมืองลอง เมืองต้า ที่คิดจะต่อต้านสยามอีก เพราะศพของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจถูกฝังไว้หน้าทางเข้าป่าช้าบ้านแม่ลานเหนือถึง ๓ ปี ก่อนขุดขึ้นมาประกอบพิธีส่งสการ(เผา)ใน พ.ศ.๒๔๔๘ ได้ทำพิธีปลงศพอย่างเร่งรีบเพียง ๓ วัน ๓ คืน โดยการอุปถัมภ์ของเจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง[๔๒] ขณะอดีตเจ้าเมืองลองในรุ่นบิดา(พญาไชยชนะชุมพู)และรุ่นปู่(พญาเววาทภาษิต) ได้ทำพิธีปลงศพอย่างสมเกียรติ โดยเฉพาะศพของพญาเววาทภาษิต(เจ้าพญาเฒ่า)ได้นำใส่ปราสาทไว้ถึง ๑ ปี(พ.ศ.๒๓๙๙) เพื่อให้ชาวเมืองได้เคารพศพและทำบุญ

ส่วนแสนไชยยะ เจ้าเมืองต้าที่มีตำแหน่งทางสยามเป็นนายแคว้น(กำนัน)เวียงต้าไม่ถูกหมายเอาชีวิต เนื่องจากมีอำนาจน้อยที่จะทำการต่อต้านสยาม หน่วยที่ปกครองไม่ใช่จุดเกิดเหตุการณ์หรือแสดงตนต่อต้านอย่างชัดเจน แต่ภายหลังก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และนายแขวงเมืองลองได้แต่งตั้งผู้ที่ไม่ใช่บุตรหลานเจ้าเมืองต้าเป็นนายแคว้นแทน 

ประการหนึ่งที่ปิดเงียบในครั้งนี้ เพื่อจำกัดจุดเกิดเหตุไว้เฉพาะนครแพร่ และเพื่อให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่างแก่หัวเมืองทั้งหลายในล้านนาที่คิดจะ “ฟื้นสยาม” ซึ่งความเป็นจริงแล้ว เมืองลองที่เป็นจุดเริ่มต้น แหล่งซ่องสุม และถูกตีแตกเป็นเมืองแรก ตามการรับรู้ของฝ่ายสยาม ควรถูกตีตราว่าเป็น “เมืองกบฏ” แต่ด้วยมีสถานะเป็นเพียงหัวเมืองขึ้นเล็กๆ มีสกุลวงศ์ “เจ้า” สืบทอดภายในท้องถิ่น ไม่มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับเจ้าผู้ครองนคร จึงไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้เจ้าผู้ครองนครทั้ง ๕ มีความเกรงกลัว แต่กลับจะทำให้เกิดความบาดหมางกับเจ้านายในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนมากกว่า โดยเฉพาะนครลำปางที่เมืองลองขึ้นอยู่จนอาจเกิดการ “ฟื้นสยาม” ครั้งต่อๆ ไปอีก ดังนั้นนครแพร่จึงเป็นเมืองที่ถูกเลือกด้วยมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยหลายประการ คือ 

(๑) เป็นแหล่งเกิดเหตุมีเจ้านายแสดงตัวให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน 

(๒) ต้นราชวงศ์เจ้านายนครแพร่เป็นคนภายในท้องถิ่น ไม่ได้เป็นญาติวงศ์กับราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ราชวงศ์มังราย (เชียงตุง) หรือราชวงศ์เจ้านครน่าน และเหล่าเจ้านายนครแพร่ก็ไม่ปรากฏมีการเสกสมรสกับเจ้านายเมืองในข้างต้น แม้แต่กับเจ้านายนครน่านที่อยู่ใกล้ชิดติดกันก็เพิ่งมีในชั้นหลัง จึงมีอำนาจการต่อรองน้อยไม่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของเจ้านายเมืองอื่นๆ[๔๓]

(๓) ปัจจัยประการสำคัญคือ นครแพร่เคยมีฐานะเป็นนครประเทศราช ถึงแม้จะมีราชศักดิ์และขนาดเล็กที่สุดในบรรดานครประเทศราชทั้ง ๕ แต่ก็ทรงพลังอย่างสูงที่จะเป็นตัวอย่างให้แก่เมืองอื่นๆ ในลักษณะ “เชือดไก่ให้ลิงดู” 

กลุ่มผู้ที่ถูกนำตัวลงไปรับโทษที่กรุงเทพฯ ในฐานะทำการต่อต้านสยาม 
(ที่มา : หนังสือเล่าเรื่องเมืองแพร่ในอดีต)

ส่วนที่เกี่ยวพันกับเจ้านายนครน่านทางการสมรสที่มีในชั้นหลังนั้น สยามก็พยายามถนอมน้ำใจ ดังพระยาราชบุตร (เจ้าน้อยยอดฟ้า) หนึ่งในเจ้าขันธ์ทั้ง ๕ นครแพร่ เป็นราชบุตรพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ราชบุตรเขยเจ้าพิริยเทพวงศ์ เมื่อพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพนำกองกำลังสยามขึ้นมาปราบ “กบฏ” ก็มีหนังสือถึงพระเจ้านครน่านปรึกษาเรื่องพระยาราชบุตร ภายหลังที่ถูกถอดยศศักดิ์ ริบทรัพย์ ชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ และให้ย้ายออกจากนครแพร่ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชก็ขอรับกลับไปอยู่นครน่านพร้อมกับพระชายา (เจ้าหญิงสุพรรณวดี) อีกทั้งสยามยังได้แต่งตั้งเป็น “เจ้าราชดนัย” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีการแต่งตั้งมาก่อน

จากข้างต้นจึงสะดวกที่จะให้นครประเทศราชอื่นๆ ในล้านนาเห็นว่า หากยังคิดต่อต้านจะมีสภาพเฉกเช่นนครแพร่ ดังนั้นรัชกาลที่ ๕ จึงทรงเลือกประณามว่า “... เมืองแพร่เปนเมืองที่เลวทรามยิ่งกว่าเมืองอื่น ...”[๔๔] ตีตราว่า “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” “กบฏอ้ายน้อยเทพวงศ์” แต่ถ้าหากมองจากสายตาคนพื้นถิ่นก็อาจถือได้ว่า “เงี้ยวเป็นวีรบุรุษ” และเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็น “วีรกษัตริย์นครแพร่(ล้านนา)” ที่ไม่ต่างจากชาวลาวมองเจ้าอนุวงศ์เป็น “วีรกษัตริย์นครเวียงจันทน์(ล้านช้าง)” 

ด้วยเหตุนี้ หากเรื่องเจ้าเมืองลองและขุนนางเค้าสนามถูกฆาตกรรมได้ยกขึ้นมาไต่สวน ถึงแม้จะหลีกเลี่ยงไม่ให้สาวถึงผู้ทรงอำนาจสั่งการ แต่ในส่วนที่เกี่ยวพันกับ “กบฏเงี้ยว” ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเจ้าเมืองลองแสนท้าวมีส่วนรู้เห็นให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ต้น ทั้งเป็นแหล่งเตรียมการ สนับสนุนอาวุธเสบียงอาหาร และมีกำลังคนบางส่วนเข้าช่วยเงี้ยวรบ กอปรกับแขวงเมืองลองก็อยู่ในเขต(จังหวัด)นครลำปาง อีกทั้งกลุ่มผู้ปกครองระหว่างเมืองต่างๆ ก็รับรู้ร่วมมือกัน ย่อมพัวพันส่งผลกระทบกระเทือนไปทั่ว ทั้งเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย เจ้าเมือง และพ่อเมืองในกลุ่มของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งฝ่ายสยามก็ทราบดีอยู่แล้วว่า ที่ล้านนาทำการต่อต้านสยามมาหลายครั้งนั้นเป็นการร่วมมือกันของนครประเทศราชทั้ง ๕ (นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน นครแพร่) และหัวเมืองบริวาร ดังพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ข้าหลวงพิเศษ(พ.ศ.๒๔๓๑ -๒๔๓๔)ส่งรายงานให้ทางสยามว่า 

“... เชื่อตัวว่าในบ้านพี่เมืองน้องสี่ห้าเมืองพร้อมๆ กันจะมีกำลังภอที่จะสู้รบกรุงเทพฯ ได้ จะคิดการใหญ่เพราะความโง่ ...”[๔๕]

ต่เนื่องจากเจ้านายประเทศราชล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเจ้านายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนที่สร้างสิทธิธรรมและเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงเครือญาติระหว่างเมืองได้อย่างกว้างขวาง มีอำนาจการต่อรองกับสยามสูง ดังนั้น ภายหลังจากทำการปราบปรามและลงโทษที่เมืองนครแพร่เพื่อเป็นตัวอย่างแล้ว เรื่องนี้จึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงทั้งฝ่ายสยามและล้านนาเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและขยายวงกว้างมากขึ้นกว่าเดิม แต่สยามเลือกใช้วิธีจัดตั้งกองกำลังเพื่อแสดงแสนยานุภาพขึ้นเหนือดินแดนเหล่านี้แทน 

หลังปราบปรามสำเร็จ ได้จัดตั้งกรมบัญชาการทหารบกมณฑลพายัพ (ค่ายกาวิละ) ที่นครเชียงใหม่ จัดตั้งกองทหารประจำการ (ค่ายสุรศักดิ์มนตรี) ขึ้นที่นครลำปางและหัวเมืองต่างๆ ซึ่งทหารเกือบทั้งหมดเป็น “คนสยาม” มีการปรับปรุงทหารให้เข้มแข็งและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพื่อปรามเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย เจ้าเมือง พ่อเมือง และขุนนางในล้านนาที่คิดจะฟื้นสยาม ทำให้กลุ่มผู้ปกครองล้านนาทั้งหลายต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมในการยึดรวมล้านนาเข้ากับสยาม ซึ่งฝ่ายสยามก็ทราบดังรัชกาลที่๕ ทรงมีพระราชหัตถเลขาว่า 

“... เจ้านครลำปางเปนคนฉลาดคิดเห็นเสียแล้วว่า แต่ก่อนเราไม่มีทหารแต่สักคนเดียวยังทำไปไม่สำเร็จ ครั้งนี้ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเราคงจะปราบปรามได้โดยง่าย จะเปนการจริงฤาไม่จริง ...”[๔๖]

ขณะที่ภายในแขวงเมืองลองก็มีการจัดตั้งกรมการแขวงขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๔๔๖ แม้ว่าขณะนั้นข้าราชการยังขาดแคลน แต่ก็ยังจัดส่งข้าราชการสยามมาประจำการแขวงเมืองลองถึง ๑๐ คน ซึ่งน้อยกว่าแขวงนครลำปางที่เป็นศูนย์กลางเพียง ๒ คน ขณะที่แขวงอื่นๆ มีข้าราชการแขวงเพียง ๖–๗ คน และรัชกาลที่ ๕ ทรงจัดส่งข้าราชการสยามขึ้นมาเป็นนายแขวง พร้อมกับพระราชทานราชทินนามเป็นชื่อเฉพาะเมืองลองว่า “รองอำมาตย์เอก หลวงจรูญลองรัฐบุรี” (หรั่งวิชัยขัทคะ,พ.ศ.๒๔๔๖ –๒๔๕๖) ที่ไม่เคยปรากฏพระราชทานราชทินนามนายแขวงเป็นชื่อเมืองขนาดเล็กเช่นนี้ให้แก่แขวงอื่นใดในล้านนา ซึ่งสะท้อนถึงสยามพยายามสร้างนายแขวงให้แทนที่เจ้าเมืองลองที่ได้สังหารไป

มีการจัดตั้งสถานีตำรวจและจัดส่งตำรวจจำนวน ๔๙ นายมาประจำการในแขวงเมืองลองถึงสามจุด คือ (๑) บ้านห้วยอ้อ แคว้น(ตำบล)ห้วยอ้อ ตอนกลางแขวงอันเป็นที่ตั้งที่ทำการแขวงเมืองลอง ๒๕ นาย   (๒) บ้านผาลาย แคว้นเวียงต้า ตอนเหนือแขวงที่เดิมคือเขตเมืองต้า๑๓ นาย และ (๓) บ้านวังชิ้น แคว้นวังชิ้น ตอนใต้แขวง(ปัจจุบันคืออำเภอวังชิ้น) ๑๑ นาย[๔๗]

สังเกตว่ามีการจัดตั้งตรึงกำลังในแขวงเมืองลองไว้อย่างเข้มแข็ง อีกทั้งห้ามพระสงฆ์เข้าไปจำพรรษาที่วัดบ่อแก้วและห้ามผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านบ่อแก้ว พร้อมกับจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจเป็นระยะๆ เพื่อควบคุมไม่ให้เป็นแหล่งซ่องสุมของ “กบฏ” ผู้คิดจะ “ฟื้นสยาม” อีกต่อไป

พ่อเฒ่าหนานปัญญาเถิง 
บุตรชายคนเดียวของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ 
เจ้าเมืองลอง 
(ที่มา :พิพิธภัณฑ์วัดแม่ลานเหนือ)

ส่วนกลุ่มอำนาจเก่าผู้ปกครองเมืองลองก็จำต้องหันมาให้ความร่วมมือกับสยาม ดังภายหลังบุตรหลานของพญาวังใน ปฐมเสนาบดีเมืองลองก็เข้าร่วมกับสยามจับเงี้ยว[๔๘] ฝ่ายกลุ่มบุตรหลานพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ (เจ้าหนานคันธิยะ) เจ้าเมืองลอง โดยเฉพาะพ่อเฒ่าหนานปัญญาเถิง บุตรชายคนเดียว ผู้มีสิทธิธรรมสายตรงขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองคนต่อไปก็ปิดตัวเงียบ โดยให้เหตุผลกับคนทั่วไปว่า “กลัวเงี้ยว” จะมาติดตามฆ่า แต่ความเป็นจริงแล้วก็คือ “กลัวอำนาจมืด” ที่กำลังแผ่เข้าครอบงำ เพราะต้องลี้ภัยอยู่ในพระพุทธศาสนา เป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระสงฆ์อยู่ระยะเวลาร่วมหลายปี[๔๙] ดังนั้น จึงเป็นการยุติบทบาทของกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองที่สืบทอดมาหลายร้อยปีตั้งแต่ “เจ้าช้างปาน” ปฐมสกุลวงศ์เจ้าเมืองลองใน พ.ศ.๒๑๔๒ และปิดฉากลงอย่างแท้จริงเมื่อพญาราชสมบัติ ผู้มีเชื้อสายเจ้าเมืองลองและเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่หนึ่งในสี่(พ่อเมืองทั้ง ๔)ของเมืองลองคนสุดท้ายได้สิ้นชีวิตในพ.ศ.๒๔๖๖

หลังจากเหตุการณ์ “กบฏเงี้ยว พ.ศ.๒๔๔๕” ในครั้งนี้ ก็ไม่ปรากฏมีการต่อต้านสยามที่รุนแรงอีก มีเพียงกลุ่มพระสงฆ์ที่พยามยึดวัตรปฏิบัติตามจารีตล้านนา ไม่ยอมปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสยาม จึงทำให้ถูกมองว่า กระด้างกระเดื่องและตั้งตนเป็นผู้นำต่อต้านสยาม โดยเฉพาะเรื่องเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อนบางรูปได้ถูกนำตัวไปสอบสวนถึงกรุงเทพฯ พระสงฆ์ยุคนี้ที่ต้องอธิกรณ์ เช่น ครูบาธนัญไชย แขวงเมืองเถิน ครูบาผ้าขาวป้อ แขวงเมืองลอง นครลำปาง ครูบาคันธา (ศิษย์ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร) วัดเหมืองหม้อ นครแพร่ ครูบาศรีวิไชย (พ.ศ.๒๔๒๑ – ๒๔๘๑) วัดบ้านปาง ครูบาอภิไชย (ครูบาผ้าขาวปี๋, ศิษย์ครูบาศรีวิไชย) นครลำพูน ซึ่งครูบามหาเถระกลุ่มนี้ กล่าวได้ว่า เป็นสัญลักษณ์การต่อต้านสยามในการยึดผนวก “ล้านนาประเทศ” ในระลอกสุดท้ายของชาวล้านนา

ท้ายสุดงานเขียนนี้อาจตอบคำถามอันมากมายและสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ “กบฏเงี้ยว พ.ศ.๒๔๔๕” ไม่ได้ถ้วนทั่วทุกคำถาม แต่ผู้เขียนก็พยายามแสดงให้เห็นทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกของเหตุการณ์นี้ว่า ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในเมืองนครแพร่อย่างที่หลายๆ ท่านเคยรับรู้เข้าใจ อีกทั้ง มีกลยุทธทางการเมืองระหว่างสยามกับล้านนาที่ซับซ้อน ชิงไหวชิงพริบกัน มากกว่าจะอธิบายสำเร็จรูปเพียงแค่ว่า “เจ้านายเมืองแพร่ไม่พอใจ จึงใช้เงี้ยวฆ่าข้าหลวงและข้าราชการชาวสยาม” หรือ “เงี้ยวเมืองแพร่ไม่พอใจจึงก่อกบฏฆ่าข้าหลวงและข้าราชการชาวสยาม”

และประการสำคัญยังมีผู้คนในอดีตอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับ “ความเจ็บปวด” อันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ไม่ว่าจะยืนอยู่ตรงจุดไหน ฐานะใด ทั้งผู้ที่ต้องการหยุดรั้งหรือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ดังชาวเมืองแพร่เองหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ผ่านพ้นไป ได้ถือว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของหน้าประวัติศาสตร์เมืองแพร่ 

ครูบาวัดพระบาทจึงพาชาวบ้านชาวเมืองร่วมกันสร้างวัดขึ้นใหม่แห่งหนึ่ง เพื่อเรียกขวัญกำลังใจชาวเมืองแพร่ให้กลับมา โดยตั้งชื่อวัดให้เป็นนิมิตหมายอันดีว่า “วัดสถาน” หรือ “วัดใหม่สถาน” (ปัจจุบันคือวัดสวรรค์นิเวศน์) เพื่อให้เกิดความมั่นคงสถาพรกลับคืนมาสู่เมืองแพร่อีกครั้ง[๕๐]

ในเมืองลองหลังจากพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ (เจ้าหนานคันธิยะ) เจ้าเมืองลองคนสุดท้ายได้ถูกลอบสังหาร ชาวบ้านชาวเมืองก็ร่วมกันสร้างศาลไว้ข้างคุ้มของเจ้าเมือง และอัญเชิญดวงวิญญาณของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจมาสถิตอยู่ เพื่อให้ปกปักดูแลรักษาเมืองลอง (ปัจจุบันย้ายมาตั้งที่หน้าวัดแม่ลานเหนือ)[๕๑]

รูปเคารพของเจ้าพ่อพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ(เจ้าหนานคันธิยะ) 
เจ้าเมืองลองคนสุดท้าย (พ.ศ.๒๔๓๕–๒๔๔๕) ที่ศาลหน้าวัดแม่ลานเหนือ
ปัจจุบันได้รับการสักการะบูชาจากข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า 
ประชาชนในอำเภอลองและพื้นที่ใกล้เคียงอยู่เสมอ 
(ที่มา :ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๒) 

ส่วนสยามหลังจากเหตุการณ์นี้รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงรู้สึกสำนึกและเสียพระทัยไม่น้อยกับเรื่องที่เกิดขึ้นโดยที่พระองค์ไม่ทรงสามารถหาทางออกที่ดีกว่านี้ได้ ดังทรงมีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๕ ว่า

“... เราปกครองหัวเมืองลาว(ล้านนา - ผู้เขียน) ..ค่อนข้างจะผิดไปจากสภาพอันแท้จริง อาจจะกล่าวได้ว่าเรานำแบบการปกครองของต่างประเทศมาใช้แต่ผิดแบบเขาไป ..เมื่ออังกฤษใช้รูปแบบการปกครองนี้นั้น เขาให้คำแนะนำปฤกษาแก่ผู้ปกครองซึ่งถือเสมือนเป็นเจ้าของหัวเมืองเหล่านั้น..ในทางตรงข้าม เราถือว่าหัวเมืองเหล่านั้นเป็นของเรา ซึ่งมันไม่จริง เพราะ..คนลาวเขาจะถือว่าหัวเมืองเหล่านั้นเป็นของพวกเขา เมื่อเราพูดว่าเราไว้วางใจเขา แท้จริงเราก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่เรากลับส่งข้าหลวงและผู้ช่วยไปให้คำปฤกษาแก่พวกเขา แล้วข้าหลวงกับผู้ช่วยที่ได้รับมอบอำนาจไปก็จะเชิดพวกนี้เหมือนหุ่น หรือไม่ก็ถ้าทำไม่ได้ก็จะคอยสอดส่องพวกเขาและรายงานความลับของเขาเข้ามา อย่างไรก็ตามเราแก้ตัวไม่ได้ในเรื่องนี้ ฉันคิดว่าการปกครองที่ไม่ได้ตรงไปตรงมาจะไม่เกิดผลในทางการเชื่อใจกันและกัน แลยังไม่ให้ความสงบทางจิตใจอีกด้วย ...”[๕๒]

ดังนั้นกว่าจะมาเป็น “ประเทศไทย” หรือ “ชาติไทย” ของเราในปัจจุบัน จึงเกิดขึ้นอยู่บน “รอยคราบน้ำตา” ที่ “อาบบนแก้ม” และ “รอยคราบเลือด” ที่ “ฉาบบนผืนแผ่นดิน” ของบรรพชน ทว่าเรื่องราวเหล่านี้ในอดีตได้ผ่านมากว่าหนึ่งศตวรรษ เราในฐานะเป็นลูกหลานรุ่นหลังได้ศึกษา เพื่อให้รู้จักตัวตน ศึกษา เพื่อให้เข้าใจในอดีต และใช้อดีตเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซ้อนในปัจจุบัน

แม้ว่า “รากเหง้า” หรือ “ตัวตน” นั้นอาจสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้คนในยุคปัจจุบัน แต่ถ้าสามารถชี้ชัดถึงเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ให้แก่คนในพื้นที่ได้เข้าใจอย่างมีเหตุผล ก็จะส่งผลให้แต่ละชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษและท้องถิ่นที่จะนำมาสู่พลังของท้องถิ่นที่เข้มแข็ง มากกว่ามีประวัติศาสตร์ในอุดมคติ กดทับ คลุมเครือ และลับลวงพราง ที่รั้งแต่จะทำให้ภายในท้องถิ่นหรือระหว่างแต่ละท้องถิ่นเกิดความแตกแยก

จึงปรารถนาอย่างแรงกล้าว่า “ผู้คนในประเทศไทย” อย่าได้มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยด้วยการไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน “เสียน้ำตาอาบบนแก้ม” และ “เสียเลือดฉาบบนผืนแผ่นดิน” บังเกิดขึ้นอีกเลยในอนาคต..

------------------------------------


เชิงอรรถ

[๑]เมืองลองปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณ อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น และบางส่วนของตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เป็นเมืองที่มีการสร้างบ้านแปลงเมืองมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ มีเจ้าเมืองปกครองสืบทอดตำแหน่งทางสายโลหิต ซึ่งสกุลวงศ์สุดท้ายของเจ้าเมืองลองสืบมาจาก“เจ้าช้างปาน” ผู้เป็นปฐมสกุลวงศ์ในพ.ศ.๒๑๔๒เมืองลองเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง และมีเมืองต้า(ปัจจุบันคือ ตำบลเวียงต้าและตำบลต้าผามอก อำเภอลอง)เป็นเมืองขึ้นของเมืองลองอีกชั้นหนึ่ง จนกระทั่งพ.ศ.๒๔๔๒ “สยามประเทศ” ยึดรวม “ล้านนาประเทศ” เข้าเป็นส่วนหนึ่ง ได้ยุบรวมเมืองลองกับเมืองต้าจัดตั้งเป็นแขวงเมืองลอง จังหวัดนครลำปาง จนกระทั่งวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๔ เพื่อสะดวกในการติดต่อราชการได้โอนย้ายมาเป็นอำเภอลอง จังหวัดแพร่ และพ.ศ.๒๕๐๑ได้แบ่ง ๔ ตำบลของอำเภอลองจัดตั้งเป็นอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ 

[๒]สัมภาษณ์กลุ่มผู้สืบเชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่ ที่อนุสาวรีย์เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ โดยวลัยลักษณ์ ทรงศิริ อ้างในศรีศักรวัลลิโภดมและวลัยลักษณ์ ทรงศิริ, นครแพร่จากอดีตมาปัจจุบัน,(กรุงเทพฯ :สกว., ๒๕๕๑). 

[๓] “เงี้ยว” ในบทความนี้ผู้เขียนไม่ได้ใช้ในเชิงดูถูก แต่เพื่อสื่อความหมายและเป็นคำจำกัดความที่ครอบคลุมสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่สยามเรียกว่า“กบฏเงี้ยว”ที่เป็นคำเรียกโดยรวม ซึ่ง“เงี้ยว”ในบทความนี้จึงอาจไม่ได้หมายถึง“ไทใหญ่”เพียงกลุ่มเดียวแต่จะผันแปรไปหลากหลายความหมายตามที่ใช้ในบริบทต่างๆ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนควรสังเกตในวงเล็บท้ายคำว่า “เงี้ยว” แต่ละคำว่าหมายถึงคนกลุ่มใดบ้าง

[๔]กจช.ร.๕ ม.๕๘/๓๓ พระยาศรีสหเทพออกไปจัดราชการมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ มีพระราชบัญญัติอากรที่ดินด้วย 

[๕]ธเนศวร์ เจริญเมืองและดวงจันทร์ อาภาวัชรุฒน์, 700 ปีของเมืองเชียงใหม่, (กรุงเทพฯ : อักษรสยามการพิมพ์, ๒๕๒๙). 

[๖]กจช.ร.๕ ม.๒.๑๒ก/๔๑ ใบบอกเมืองต่างๆ ฝาง เชียงแสน แถน เชียงราย เชียงใหม่ (พ.ค.๑๐๗ –๙ ส.ค.๑๐๙) 

[๗]ประชุม อัมพุนันท์,เที่ยวไปในอดีตเมื่อเงี้ยวปล้นเมืองแพร่และเมืองนครลำปาง,(กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๒๗),หน้า ๑๓๘. 

[๘]กจช. ร.๕ ม.๕๘/๑๐๙ หนังสือมหาไทยราชการฝ่ายเมืองนครเชียงใหม่ น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง ๓๐ มิ.ย.๑๐๙ –๑๓ ต.ค.๑๐๙ 

[๙]องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย, เอกสารประกอบการสัมมนา “๒๐๐ ปีการฟื้นฟูและการพัฒนาเมืองลำพูน(๒๓๔๘-๒๕๔๘)”,เอกสารอัดสำเนา, ๒๕๔๕. 

[๑๐]กจช. ร.๕ ม.๕๘/๔๑ เจ้าลาวมณฑลพายัพกล่าวโทษพระยาทรงข้าหลวงเรื่องจัดการบ้านเมือง 

[๑๑]กจช. ร.๕ ม.๕๘/๔๑ เจ้าลาวมณฑลพายัพกล่าวโทษพระยาทรงข้าหลวงเรื่องจัดการบ้านเมือง 

[๑๒]สายัณน์ ข้ามหนึ่ง(บรรณาธิการ), แม่น้ำยม ป่าสักทอง..วิถีชีวิตของคนสะเอียบ,(ม.ป.ท. : วนิดา เพลส,๒๕๔๙), หน้า ๑๔. 

[๑๓]โครงการศึกษาชนชาติไท มหาวิทยาลัยพายัพร่วมกับประชาคมเมืองน่าน, สืบสานอดีตอันเรืองรองของเมืองน่าน : ข้อมูลและมุมมองใหม่ทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์, สัมมนาระหว่าง ๑๘ –๒๑ ธ.ค.๒๕๔๐ จ.น่าน,หน้า ๗๐. 

[๑๔]ภูเดช แสนสา(ปริวรรต), พับสาค่าวกลั้นข้าวอยากน้ำ นายน้อย อี่นางนวล บ้านนาตุ้ม เมืองลองอักษรธรรมล้านนา 

[๑๕]กจช.ร.๕ ม.๕๘/๑๒๙ไปรเวตเรื่องพม่าเงี้ยวลาวจีนจะคิดการประทุษฐ์ร้ายต่อเมืองเชียงใหม่ ร.ศ.๑๑๙ 

[๑๖]สรัสวดี ประยูรเสถียร, วิทยานิพนธ์การปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ(พ.ศ.2436-2476), หน้า ๑๙๕ และ๒๓๐. 

[๑๗]ฝอยทอง (สมบัติ)สมวถา, เล่าขานตำนานเมืองแจ๋ม,(เชียงใหม่ : บริษัทนพบุรีการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๔๖), หน้า ๕. 

[๑๘]กจช.ร.๕ ม.๕๘/๓๓ พระยาศรีสหเทพออกไปจัดราชการมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ มีพระราชบัญญัติอากรที่ดินด้วย 

[๑๙]พระธรรมรัตนากร, ประชุมพงศาวดารตอนเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ พ.ศ.๒๔๔๕,(ม.ป.ท. : ซี.พี.การพิมพ์,๒๕๓๖), หน้า ๒๕. 

[๒๐]ปัจจุบันบุตรหลานชาวเชียงตุงในเมืองลองใช้นามสกุล และจ๋อย ซอมอย อุ้ยปาน ฯลฯ เมืองต้าใช้นามสกุล ฮ้อยป้อ เครือคำเฮียง ฯลฯ 

[๒๑]สัมภาษณ์พ่อน้อยแหลง ซอมอย(หลานนายฮ้อยไม้ชาวนครเชียงตุงที่เข้ามาทำไม้ในเมืองลองและอุปถัมภ์ศาสนสถานหัววัดต่างๆ) อายุ ๗๙ ปี เลขที่ ๑๐หมู่ที่ ๘ บ้านห้วยอ้อ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ 

[๒๒]กจช.ร. ๕ กต.๙๘.๑/๘ที่ ๗๐/๘๒๘ พระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ร.ศ.๑๒๑ 

[๒๓]กจช.ร. ๕ กต.๙๘.๑/๘ที่ ๗๐/๘๒๘ พระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ร.ศ.๑๒๑ 

[๒๔]สัมภาษณ์พ่อหนานคำมูล ธิมูล อายุ ๖๐ ปี เลขที่ ๔หมู่ที่ ๑ บ้านศรีดอนชัย ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ วันที่๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙ 

[๒๕]สมถวิล เทพยศ,ประวัติและผลงานศรีวิไจย(โข้),(แพร่:โรงพิมพ์ไทยอุตสาหกรรม, ม.ป.ป.),หน้า ๘๐. 

[๒๖]พระครูวิจิตรนวการโกศล(ครูบาสมจิต) วัดสะแล่ง, ประเพณีการเลี้ยงผีบ่อเหล็กลอง,เอกสารอัดสำเนา, หน้า ๙. 

[๒๗]กจช.กรมศิลปากร พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ภาคที่ ๓ การปราบเงี้ยว)(เอกสารตัวเขียน) 

[๒๘]กจช.ร.๕กต.๙๘.๑/๘ที่ ๕๓/๑๐๔๒ พระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๑ 

[๒๙]ประชุม อัมพุนันท์,เที่ยวไปในอดีตเมื่อเงี้ยวปล้นเมืองแพร่และเมืองนครลำปาง, หน้า ๗๒. 

[๓๐]พระธรรมรัตนากร, ประชุมพงศาวดารตอนเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ พ.ศ.๒๔๔๕, หน้า ๑๔ – ๑๕ และ ๒๔. 

[๓๑]กจช.ร.๖ รายงานราชการมณฑลเพชรบูรณ์หรือมณฑลมหาราษฎร์ (๑๓ ก.ค.๒๔๕๔ – ๑๑ ต.ค.๒๔๖๔) 

[๓๒]กจช.ร.๕ ม.๘๕/๘ ประกาศปิดบ่อพลอย เมืองลอง 

[๓๓]ประชุม อัมพุนันท์, เที่ยวไปในอดีตเมื่อเงี้ยวปล้นเมืองแพร่และเมืองนครลำปาง, หน้า ๙๖. 

[๓๔]ประชุม อัมพุนันท์, เที่ยวไปในอดีตเมื่อเงี้ยวปล้นเมืองแพร่และเมืองนครลำปาง, หน้า ๙๔ และ ๑๔๓. 

[๓๕]กจช.กรมศิลปากร พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ภาคที่ ๓ การปราบเงี้ยว)(เอกสารตัวเขียน) 

[๓๖]กจช.กรมศิลปากร พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ภาคที่ ๓ การปราบเงี้ยว)(เอกสารตัวเขียน) 

[๓๗]กจช.ร.๕ ม ๒.๔/ ๒๔ สัญญาบัตรแลประทวน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญต่างๆ ทางกระทรวงมหาดไทย ปีศก ๑๒๙ 

[๓๘]จารึกท้ายคัมภีร์ใบลานทศพร ฉบับปราสาทแสนยอด วัดดอนไชยพระบาท อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน จารเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๔๕ 

[๓๙]สัมภาษณ์พ่อหนานอินจันทร์ ไชยขันแก้ว(หลานพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง) อายุ ๙๐ ปี เลขที่ ๔๙ ม.๔ บ้านใหม่ ตำบลบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐. 

[๔๐]“เงี้ยว” ในความหมายนี้จึงอาจเป็นเงี้ยวจริงๆ หรืออาจไม่ใช่เงี้ยวก็ได้ เพียงแต่รับรู้จากคำบอกเล่าของภรรยาและบุตรธิดาของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง ผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ว่าเป็น “เงี้ยว” 

[๔๑]กจช.กรมศิลปากร พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ภาคที่ ๓ การปราบเงี้ยว)(เอกสารตัวเขียน) 

[๔๒]สัมภาษณ์พ่อหนานสุวรรณ พลเสริม อายุ ๘๔ ปี เลขที่ ๑๒๓หมู่ที่ ๑๔ บ้านแม่ลานพัฒนา ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ 

[๔๓]ชัยพงษ์ สำเนียง, “พลวัตการสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ พ.ศ.2445-2549” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๕๑, หน้า ๑๘๒. “ต้นราชวงศ์เจ้านครแพร่คือ พญาแสนซ้าย ขุนนางเมืองแพร่ในยุคพม่าปกครอง” 

[๔๔]กจช.ร.๕กต.๙๘.๑/๘ที่ ๗๔/๘๖๖ พระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ร.ศ.๑๒๑ 

[๔๕]กจช.ร.๕ ม.๕๘/๑๐๓ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์เรื่องราชการเชียงใหม่และในพระองค์ 

[๔๖]สรัสวดี ประยูรเสถียร, การปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ(พ.ศ.2436-2476), หน้า ๒๓๐. 

[๔๗]กจช. ร.๕ ม.๕๘/๑๗๗ เรื่องผลประโยชน์เมืองนครลำปาง ๓๑ม.ค. ๑๑๑ –๒๐พ.ค.๑๑๒ 

[๔๘]สัมภาษณ์แม่อุ้ยแก้ว ฝั้นมงคล อายุ ๘๐ ปี(ลื้อ(โหลน)พญาเจรจา และ หลานสะใภ้พญาวังใน เมืองลอง) เลขที่ ๕๓หมู่ที่ ๑๐ บ้านดอนมูลตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ วันที่๑๔พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ 

[๔๙]“ขณะเกิดเหตุพ่อเฒ่าหนานปัญญาเถิงเป็นสามเณรอายุประมาณ ๑๕ ปี ได้กลับคุ้มและถูกฟันที่หลังแต่วิ่งหนีได้ทัน ซึ่งตลอดชีวิตจะพยายามไม่ถอดเสื้อให้ใครเห็นรอยแผลเป็นเพราะไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น” สัมภาษณ์พระอธิการจันทร์คำ ญาณคุตฺโต(หลานพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง และหลานลุงพ่อเฒ่าหนานปัญญาเถิง) อายุ ๘๑ ปี เจ้าอาวาสวัดแม่ลานใต้ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ 

[๕๐]สัมภาษณ์แม่บัวจีน รสเข้ม (ธิดาของพ่อเจ้าหนานหมื่น แม่เจ้าศรีวรรณา) อ้างใน จินตนา ยอดยิ่ง, ประวัติของชื่อตำบลและหมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่, วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ๒๕๑๙, หน้า ๒๙๑ – ๒๙๒. 

[๕๑]สัมภาษณ์แม่บัวจิ๋น ปิ่นไชยเขียว (หลานพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ) อายุ ๗๘ ปี บ้านเลขที่ ๕๕ หมู่๑๑ บ้านแม่ลานเหนือ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙. 

[๕๒]ลายพระหัตถ์รัชกาลที่๕ ถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างใน ศรีศักรวัลลิโภดมและวลัยลักษณ์ ทรงศิริ, นครแพร่จากอดีตมาปัจจุบัน,(กรุงเทพฯ :สกว., ๒๕๕๑), หน้า ๒๒๓.



Shrae