วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

การศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองสะเอียบ


เมืองสะเอียบเป็นหัวเมืองโบราณขนาดเล็กของล้านนา ปัจจุบันมีสถานภาพทางการปกครองตามกระทรวงมหาดไทยเป็นตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ 

เมืองสะเอียบแห่งนี้มีหลักฐานในตำนานว่าเคยเป็นพื้นที่ที่มีการอยู่อาศัยมาหลายยุคสมัย และอาจมีการตั้งบ้านเมืองซ้อนทับกันมาแล้วหลายครั้งเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗



จนกระทั่งในช่วงเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ตัวตนของความเป็นเมืองสะเอียบมีความเด่นชัดมากขึ้น และระบบบางอย่างก็ยังคงสืบทอดอยู่ในวิถีชีวิตของลูกหลานชาวเมืองสะเอียบมาจนถึงในรุ่นปัจจุบัน ทั้งคติความเชื่อและระบบโครงสร้างทางการปกครอง 

เช่น มีระบบผีเมือง มีขื่อเมืองและผีอารักษ์ประตูเมือง มีระบบการจัดเก็บและส่งส่วย ระบบเจ้าเมืองและกลุ่มขุนนางปกครอง (มี “พญาไชยยะ” หรือ “พญาไชย” เป็นเจ้าเมืองสะเอียบคนสุดท้าย(ต้นตระกูล “สะเอียบคง”) ที่ภายหลังได้สืบทอดมาเป็นระบบ “พ่อแคว่น” (กำนัน)) ที่ปกครองเมืองสะเอียบขึ้นตรงกับเมืองสา(เมืองเวียงสา) และเมืองสาขึ้นกับเมืองนครน่าน ตลอดจนมีพิธีกรรมหงายเมืองซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเจ้าเมืองสะเอียบโดยตรง เป็นต้น

สังเกตว่าเมืองสะเอียบเป็นหัวเมืองขนาดเล็กมาก คือเจ้าเมืองสะเอียบต้องปกครองขึ้นตรงกับเจ้าเมืองใหญ่ขึ้นไปอีก ๒ ชั้น คือ เจ้าเมืองสาและเจ้าผู้ครองนครน่าน แต่ทว่าในด้านความสำคัญที่แสดงตัวตนของความเป็นเมือง กลับมีความเด่นชัดกว่าหัวเมืองอื่นที่อยู่ในระดับเดียวกันนี้ 

ดังนั้นหากศึกษาประวัติศาสตร์เมืองสะเอียบก็จะแสดงให้เห็นระบบของความเป็นเมืองขนาดเล็กมากของล้านนา ที่ยังไม่มีการศึกษาค้นคว้าทั้งระบบของความเป็นเมือง และเป็นภาพตัวแทนของหัวเมืองขนาดเล็กในระดับนี้ของล้านนาได้อย่างดียิ่ง 

ในปัจจุบันแม้ว่าระบบเหล่านี้ของเมืองสะเอียบจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง หรือบางอย่างได้เลิกปฏิบัติไปแล้ว แต่ทว่าด้วยความเป็นเมือง(ชุมชน)ขนาดเล็กมีเพียงจำนวน ๑๐ หมู่บ้าน กอปรกับมีลักษณะเป็นเมืองค่อนข้างปิด เนื่องจากตั้งซ่อนตัวในหุบเขาอยู่ห่างไกลจากเส้นทางการคมนาคมสำคัญหรือชุมทางขนาดใหญ่ จึงทำให้ ณ ปัจจุบันเราสืบค้นย้อนเข้าไปศึกษาถึงระบบการปกครอง เศรษฐกิจ ตลอดถึงระบบคติความเชื่อต่างๆ ของเมืองสะเอียบได้โดยไม่ยากนัก

ผู้ศึกษาจึงได้สนใจจะทำการศึกษาประวัติศาสตร์ และพัฒนาการของเมืองสะเอียบอย่างรอบด้าน ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนถึงคติความเชื่อต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในขณะนี้ผู้ศึกษาได้ทำการรวบรวมข้อมูลไว้มากพอสมควร โดยเฉพาะข้อมูลด้านเอกสาร ทั้งเอกสารโบราณ(ตำนานและเอกสารจดหมายเหตุ)และเอกสารปัจจุบัน(หนังสือและเอกสาร) 

แต่ทว่าก็ยังขาดความสมบูรณ์ในข้อมูลหลักฐานการลงพื้นที่และการสัมภาษณ์ อันเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้เห็นความมีชีวิตชีวาของชาวสะเอียบและเมืองสะเอียบ ซึ่งผู้ศึกษาจะได้ทำการลงพื้นที่ต่อไปอีกหลายครั้ง โดยมีผู้ช่วยเก็บข้อมูล(พร้อมช่วยให้ข้อมูล)คือนายฉัตรชัย ขันธบุตร นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชาวเมืองสะเอียบโดยกำเนิดและเติบโตขึ้นที่เมืองสะเอียบ

หากปราชญ์ชุมชนหรือผู้รู้ท่านใดมีคำแนะนำหรือมีข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์เมืองสะเอียบในครั้งนี้ ส่งมาได้ที่ phoobate_1116@hotmail.com หรือโทรศัพท์มาพูดคุยแนะนำได้ที่ ๐๘๑ – ๕๓๐๗๘๖๑ หรือผ่านทางเว็บไซต์ล้านนาแพร่

โดยการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์จะจัดทำเป็นหนังสือไว้ให้แก่โรงเรียน หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนถึงผู้สนใจศึกษา เพื่อไว้เป็นพื้นฐานของการศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองสะเอียบ หัวเมืองบริวารขนาดเล็กของล้านนาสืบไป 

ขณะเดียวกันก็เป็นการค้ำจุนหล่อเลี้ยงเมืองสะเอียบ ที่กำลังประสบปัญหากับภัยยุคใหม่อันใหญ่หลวง ในกรณีอาจมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นท่วม “เมืองสะเอียบ” เมืองโบราณล้านนาที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานแห่งนี้ทั้งหมด อันเป็นมหันตภัยถึงขั้นเมือง “สูญสลาย” ที่ไม่ใช่แค่เพียงการ “ล่มสลาย” อันเกิดจากภัยศึกสงครามที่เมืองสะเอียบและชาวเมืองสะเอียบได้เคยประสบมานับครั้งไม่ถ้วนในอดีต หรือเป็นเพียงแค่การล่มสลายในระบบทางการเมืองการปกครองแบบจารีตในปีพ.ศ.๒๔๔๒

เนื่องจากภัยเหล่านี้ในอดีตยังคงเหลือผืนแผ่นดิน (พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ศูนย์รวมจิตใจในเชิงจิตวิญญาณ และพื้นที่ทรัพยากร)ของเมืองสะเอียบ และฟื้นฟูแผ่นดินเกิดนี้ไว้ให้แก่ลูกหลานชาวเมืองสะเอียบได้อยู่อาศัยอย่างผาสุขสืบมาถึงปัจจุบัน 

ดังนั้นหากไม่รีบทำการศึกษาให้เห็นความสำคัญของเมืองสะเอียบ อันเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถหาสิ่งใดมาทดแทนได้ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเขื่อนได้รับรู้ ต่อไปภายภาคหน้าอีกไม่นานเกินรอ “เมืองสะเอียบ” อาจเหลือเป็นเพียงเมืองใน “ตำนาน” ที่เล่าขานสู่กันฟังในกลุ่มลูกหลานของชาวล้านนา..


ภูเดช แสนสา 
๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ 
๙.๕๙ นาฬิกา(ยามแตรขึ้นสู่เที่ยง)


Shrae